ในกระบวนการคิดเวลาเราพบปัญหาหรือความยุ่งยากและสับสน เรามักมีคำๆหนึ่งเกิดขึ้นมานั่นคือการคิดบวก คิดบวก และคิดบวก เพื่อให้ชีวิตของเราสามารถผ่านช่วงวิกฤติในชีวิตนี้ให้ได้ แต่แท้จริงแล้วการคิดบวกคืออะไรกันแน่ การคิดที่เรียกว่าคิดบวกที่เราคิดอยู่ทุกวันนี้ถูกต้องหรือไม่ แนวคิดในการคิดบวกผมได้บทความของท่านว.วชิรเมธี ในเรื่องการคิดบวก ท่านให้แง่คิดการคิดบวกไว้ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 เป็นการมองสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง แล้วพยายามแก้ปัญหาบนพื้นฐานของความเป็นจริงให้ได้อย่างถึงที่สุดก่อน แต่ถ้าพยายามทุกวิธีแล้วยังไม่สมารถแก้ปัญหาได้เลย ก็ต้องมาสู่ขั้นที่ 2 นั่นคือเริ่มใช้การคิดบวกกับเหตุการณ์ข้างหน้า
ขั้นตอนที่ 2 เมื่อพยายามแก้ปัญหาตามความเป็นจริงจนสุดความสามารถแล้ว แต่พบว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้านั้นใหญ่เกินกว่าที่จะแก้อะไรได้ แทนที่เรายอมจำนน หรือยอมรับสภาพต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแบบหมดอาลัยตายอยาก เราควรที่จะลุกขึ้น และปรับวิธีคิด และมุมมอง
ใหม่ของเรา เพื่อที่จะเผชิญความจริงอย่างสร้างสรรค์ ง่ายๆก็คือ หาวิธีเผชิญปัญหาเดิมๆ ด้วยวิธีการในการรับมือแบบใหม่ ด้วยมุมมองใหม่ ด้วยท่าทีใหม่
นั่นคือการคิดบวกจึงไม่ใช่ว่าเจอปัญหาอะไรมาก็คิดบวกเสียไปทุกอย่าง แต่ที่ถูกต้องต้องทำทั้งสองขั้นตอนนี้ให้ครบถ้วนเสียก่อน โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีปัญญาเป็นตัวกำกับในการแก้ปัญหา ท่านว.วชิรเมธีได้ยกตัวอย่างการคิดบวกแบบสิ้นคิดคือมิได้ใช้ปัญญากำกับในการแก้ปัญหา เช่นเมื่อเจอน้ำท่วมก็คิดว่าดีแล้วได้ฝึกอยู่กับน้ำ เจอคำด่าก็ดีแล้วที่ได้ฝึกความอดทน อย่างนี้ท่านเรียกว่าสิ้นคิด
เมื่อมีตัวอย่างแบบสิ้นคิด ก็ต้องมีแบบการใช้ปัญญา หลายท่านคงรู้จักโทมัส อัลวา เอดิสันน่ะครับ ท่านบอกไว้ว่า ข้าพเจ้าไม่เคยคิดว่าตัวเองล้มเหลว แต่ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้ากำลังเรียนรู้ทุกๆครั้งจากความล้มเหลว หรือจากการที่สตีฟ จ๊อบส์ ถูกไล่ออกจากแอปเปิล เค้าก็คิดว่าการที่ถูกไล่ออกครั้งนี้ คือการได้เริ่มต้นใหม่ เป็นคนใหม่ เป็นมือใหม่ในการที่จะพัฒนาสิ่งต่างๆได้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้นเป็นต้น
ดังนั้นการคิดบวกจึงมิใช่การยอมจำนน แต่เป็นการอยู่กับความเป็นจริง และใช้ปัญญาในการคิดเพื่อนำไปสู่หนทางที่ดีกว่าครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น